วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

สายพันธ์ปลาทอง

ปลาทองมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น ต่อมาถูกนำไปเลี้ยงในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 17 และถูกนำไปเผยแพร่ในอเมริกา ในศตวรรษที่ 19 ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นรู้จักผสมพันธ์ปลาทองมานานแล้วและได้ปลาทองลูกผสมที่น่าสนใจ มีสีหลากหลายตั้งแต่สีแดง สีทอง สีส้ม สีเทา สีดำและสีขาว แม้กระทั่งปลาทองสารพัดสีในตัวเดียวกัน ปลาทองมีชีวิตอยู่ตามแหล่งธรรมชาติจนกระทั่งมีชาวจีนบางคนได้จับมาเลี้ยงตามบ่อเพราะดูหน้าตาสวยดี สีสันแปลกตา สร้างความเพลิดเพลินใจได้เป็นอย่างดี จึงเลี้ยงสืบต่อกันมาเรื่อย ๆ ทำให้มีการแปรผันผันแปร และพัฒนาเรื่อยมา ประกอบกับความนิยมเลี้ยงที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ปลาทองที่เลี้ยงมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปรไป เช่น แต่เดิมปลาทองจะหาอาหารตามบ่อน้ำธรรมชาติเพื่อเลี้ยงชีวิตซึ่งต้องออกเรี่ยวออกแรง ไขมันส่วนเกินก็ไม่มี หุ่นก็เพรียวลม ครั้นย้ายมาอยู่ตามบ่อเลี้ยง อาหารปลาก็ถูกนำมาเสริฟกันถึงขอบบ่อ แถมเสริฟเป็นเวลาซะด้วย ทำให้ปลาทองบางตัวพุงป่องดูอ้วนตุ้ยนุ้ยขึ้นและหากลักษณะต่างๆดังกล่าวเกิดเป็นที่ประทับใจมนุษย์หรือคนดูคนชมว่าสวยแล้ว ก็จะถูกขุนขึ้นไปเรื่อยๆตามสูตร ปลาทองถูกมนุษย์เลี้ยงมาตั้งแต่อดีต ประมาณ พ.ศ. 1161-1450 หรือนับเป็นพันปีมาแล้ว ปลาทองในสภาพธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงนั้นก็ได้พัฒนาตัวเอง ทำมาหากินตามธรรมชาติ สืบทอดสายพันธ์มาจนถึงปัจจุบัน ก็แทบจะเป็นคนละปลาเดียวกันกับปลาทองของวันนี้เลย เพราะเมื่อพิจารณาดูจะพบว่าปลาใน ปลาตะเพียนทั้งหลายต่างก็อยู่ในเทือกเขาเหล่าตระกูลเดียวกันกับปลาทอง คือ FAMILY CYYPRNDAE



1. ปลาทองหัวสิงห์จีน





ลักษณะเด่นของปลาพันธุ์นี้ คือ มีส่วนหัวที่ใหญ่กว่าลำตัวมาก ส่วนวุ้นที่หัวมีมากและหนาแน่นกว่าสิงห์สายพันธุ์อื่น ในประเทศญี่ปุ่นได้แยกลักษณะวุ้นบนส่วนหัวของปลาคือ วุ้นมีขนาดเท่ากันเกือบทั้งหมดบนหัวเรียกว่า ชิชิงาชิระ (Shishigashira) วุ้นมีมากเฉพาะกลางหัวเรียกว่า โทกิง (Tokin) วุ้นมีทั้งบนหัวและที่ฝาเหงือกทั้งสองข้างเรียกว่า โอคาเหมะ (Okame) แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกปลาที่มีวุ้นบนหัวว่า รันชู (Ranchu) ส่วนหลังของปลาลาดโค้งเพียงเล็กน้อยและไม่มีครีบบนหลัง หางจะหนาและใหญ่กว่าสิงห์พันธุ์อื่นๆ ปลาส่วนมากมีสีแดง และโตตามขนาดบ่อที่เลี้ยงได้ประมาณ 20-25 ชม.




2. ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น




เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากสิงห์จีนโดยประเทศญี่ปุ่น หลังของปลาจะโค้งมากกว่าสิงห์จีน มีวุ้นอยู่บนส่วนหัว แก้ม เหนือริมฝีปาก และที่คาง หลังของปลาจะต้องโค้งจนคนในวงการปลาเปรียบเทียบไว้ว่า หลังโค้งไข่ผ่าซีก ครีบหางต่อกับลำตัวเป็นมุมแหลมเฉียงขึ้น 45 องศา ครีบทวารมีทั้งเดี่ยวและคู่ มีสีแดงและขาวสลับแดง





3. ปลาทองหัวสิงห์ลูกผสม (Hybrid lionhead)




เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์ให้สวยขึ้นโดยประเทศไทย ซึ่งนำเอาจุดเด่นของปลาสิงห์จีนและญี่ปุ่นมารวมเข้าไว้ด้วยกัน เพราะปลาสิงห์ญี่ปุ่นเพาะพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก และลูกปลาที่คัดแล้วมีความสวยงามเหมือนพ่อแม่ปลาจะมีน้อยมาก ทำให้ปลามีราคาสูง การนำปลาสิงห์จีนมาผสมข้ามพันธุ์กัน ทำให้ได้ลูกปลาที่ทรงสวยงามเพิ่มมากขึ้น สิงห์ลูกผสมจะมีวุ้นบนหัวน้อยกว่าสิงห์จีนเล็กน้อย แต่หลังจะโค้งมากกว่าจนเกือบใกล้เคียงสิงห์ญี่ปุ่น





4. ปลาทองหัวสิงห์สยาม (Siamese lionhead)




เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์ให้สวยขึ้นโดยประเทศไทย มีทรงและลักษณะเหมือนสิงห์ลูกผสม แต่มีสีทุกส่วนของลำตัวปลาเป็นสีดำทั้งหมด





5. ปลาทองสิงห์ตากลับ (Celestial goldfish)




มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน เรียกว่า โซเตนกัน ญี่ปุ่นเรียกว่า เดเมรันชู ส่วนหัวของปลามีวุ้นเล็กน้อย ลำตัวและทรงคล้ายสิงห์จีน แต่มีลำตัวที่ยาวกว่าสิงห์จีนมาก มีสีแดง





6. ปลาทองสิงห์ตาลูกโป่ง (Bubble eyes goldfish)



มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนญี่ปุ่นเรียกว่า ซุอีโฮกัน ลำตัวและทรงคล้ายสิงห์จีน แต่ที่เบ้าตามีถุงน้ำขนาดใหญ่ดูคล้ายลูกโป่งติดอยู่ที่บริเวณใต้ตา ถุงน้ำใต้ตาปรกติจะโปร่งแสงและมีขนาดใกล้เคียงกัน ไม่มีครีบบนหลังปลา มีสีแดงและขาวแซมแดง





7. ปลาทองฮอลันดาหัววุ้น (Dutch lionhead)




ญี่ปุ่นเป็นผู้เพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่ และเรียกว่า ออรันดาชิชิกาชิระ วุ้นบนส่วนหัวของปลาจะมีมาก และมองเห็นเป็นก้อนกลม มีครีบบนหลังปลา และครีบหางกางแผ่กว้างยาวกว่าปลาสิงห ์มีสีแดงและขาวสลับแดง





8. ปลาทองริวกิ้น (Ryukin)




เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นปลาที่มีรูปทรงและสีสันสวยงาม มีสีแดง ขาวสลับแดง และหลายสี ซึ่งนิยมเรียกว่าปลาริวกิ้น 5 สี เวลาว่ายน้ำท่าทางสง่างาม ลำตัวอ้วนสั้นเกือบเป็นทรงกลมหน้าแหลม โหนกหลังสูง ส่วนหัวไม่มีวุ้น เกล็ดหนา





9. ปลาทองตาโปน (Telescope eyes goldfish)




ญี่ปุ่นเรียกว่า เดเมคิน จีนนิยมเรียกว่า dragon eyes มีลักษณะเด่นคือมีลูกตายื่นออกไปด้านหน้าทั้งสองข้าง รูปทรงคล้ายปลาริวกิ้นมาก พันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยคือ ปลาทองตาโปนญี่ปุ่น มีสีแดงตลอดทั้งตัว ญี่ปุ่นเรียกว่า อะคาเดเมะคิน (akademekin) ปลาทองตาโปนห้าสีมีสีแดง ดำ ขาว ส้ม และฟ้า ผสมกันในปลาตัวเดียว ญี่ปุ่นเรียกว่า ซันโดกุเดเมะคิน ปลาทองตาโปนพันธุ์เล่ห์ มีสีดำสนิททั้งตัว ญี่ปุ่นเรียกว่า คุโรเดเมะคิน และสามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยได้อีกตามลักษณะทรงของลำตัวและหาง คือ ลักเล่ห์กระโปรง ลักเล่ห์ตุ๊กตา ลักเล่ห์ควาย และลักเล่ห์หลังอูฐ





10. ปลาทองเกล็ดแก้ว (Pearl scale goldfish)




ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลาเกล็ดแก้วหน้าหนู ส่งไปขายทั่วโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นปลาทองที่มีลักษณะแตกต่างจากปลาพันธุ์อื่นๆ มีทรงอ้วนกลมกว่าพันธุ์ริวกิ้น เกล็ดตามลำตัวปลาเกือบทั้งหมดหนาและแข็งโปนออกมาจากลำตัว มี 3 สายพันธุ์ได้แก่ เกล็ดแก้วหน้าหนู เกล็ดแก้วหัววุ้น เกล็ดแก้วหัวมงกุฎ





11. ปลาทองโคเมทหรือปลาทองหางซิว (Comet)




เป็นปลาที่มีรูปทรงคล้ายปลาคร็าฟมากแต่มีหางที่ยาวกว่าปลาคร็าฟ ปลาพันธุ์นี้จะมีสีดังนี้คือ แดงทั้งตัว แดงสลับขาว และห้าสีในปลาตัวเดียวคือแดง ดำ ขาว ส้ม ฟ้า







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น